Taweesak_Thai_Edu
วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559
วัฒนธรรมภูมิปัญญาภาคใต้ การเเข่งว่าว
แข่งว่าว
แข่งว่าว
ว่าวทางภาคใต้คล้ายกับภาคกลาง เป็นว่าวปักเป้า ว่าวจุฬา ว่าวนก ว่าวกระบอก ว่าวใบไม้ ว่าววงเดือน ว่าวฟังเสียง (ว่าววงเดือนชนิดมีแอก คือ ปีกยาว ๓-๔ ม.) และอาจจะมีทำรูปอื่นที่แปลกไปอีกบ้าง นิยมเล่นกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในเดือน ๓-๔ (หรือราว ก.พ. – เม.ย.) เนื่องจากลมบนแรง แหล่งทำว่าว มีชื่อคือ วัดหน้าพระลาน จ.นครศรีธรรมราช มีเรื่องเล่าว่า สาเหตุที่ปลายยอดพระบรมธาตุเจดีย์คดเอียงไปเล็กน้อย ก็เนื่องมาจากถูกสายเชือกว่าวท่านสมภารวัดหน้าพระลานพานเอาบิดไป ว่าวยุคหลังรูปแบบต่างกันมากมีทั่วไป เช่น ทางพัทลุง ตรัง สตูล สงขลา โดยเฉพาะจังหวัดสตูลจัดให้มีการแข่งขันว่าวนานาชาติที่สนามบินเป็นประจำเกือบทุกปี โดยมากทางมาเลเซียมาแข่งขัน เป็นว่าววาบูแล (ภาษามลายูถิ่น) – วาบูลัน (ภาษามลายูถิ่นสตูล) คือว่าววงเดือน เพราะกลางลำตัวทำเป็นวงกลม อย่างวงเดือน ส่วนล่างสุดเป็นส่วนโค้งรูปคล้ายเขาควาย (ลางทีจึงเรียกว่าวเขาควาย) กระดาษตัวว่าวเขียนวาดลวดลายอย่างวิจิตร เป็นต้น กติกาการแข่งขันคือ ว่าวที่ชักขึ้นพร้อมกัน ว่าวตัวไหนที่ชักขึ้นสูงทำมุม ๙๐ องศา กับพื้นดินได้ก่อน ว่าวตัวนั้นก็จะชนะ โดยนิยมแข่งขันครั้งละ ๒ ตัว
ที่มา
https://sites.google.com/site/looknampattalung/phumipayya-ni-dan-kila-kar-la-len/khaeng-waw
https://www.youtube.com/watch?v=a-2XerHRf4I
วัฒนธรรมภูมิปัญญาภาคใต้ เเข่งนกเขา
แข่งนกเขา
แข่งนกเขา
เป็นนกเขาชวาหรือนกเขาเล็กนิยมเลี้ยงไว้ฟังเสียงขันที่ไพเราะ เพื่อความสุขใจเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาในสังคม หรือเลี้ยงไว้ดูเล่นยามว่างแก้รำคาญเป็นงานอดิเรกและถือเป็นสัตว์สิริมงคลนำโชคลาภมาให้ด้วย จึงนิยมเลี้ยงกันมากตั้งแต่นครศรีธรรมราชลงไป โดยเฉพาะทางสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส นิยมเลี้ยงกันมากที่สุด ไปทางไหนจะพบเสาสูงปักหน้าบ้านเพื่อชักรอกให้นกขึ้นไปผึ่งแสงแดดตอนเช้า และพ่นน้ำเสมอ มีการเพาะพันธุ์ขายส่งต่างประเทศ เกิดอุตสาหกรรมต่อกรงนกสวยงามราคาแพงจำหน่าย มีการจัดงานแข่งขันฟังเสียงทั้งระดับประเทศและนานาชาติเป็นประจำเกือบทุกปีที่จังหวัดยะลา นกที่แข่งขันชนะบ่อยจะมีราคาแพงมากบ้านของผู้มีอันจะกินมักจะต้องหานกเขาชวาเสียงดีๆ มาเลี้ยงไว้ประดับบ้าน เสียงนกเขาชวามี ๓ เสียง คือ เสียงใหญ่ เสียงกลาง และเสียงเล็ก นกที่ขันเสียงมีปลายหรือมีกังวานถือเป็นนกที่ดี การแข่งขันนกเขาชวาจะจัดทั้ง ๓ ประเภทเสียง และการพิจารณายังต้องดูคารมลีลาจังหวะการขัน เช่น ช้า เร็ว อีกด้วย
ที่มา
https://sites.google.com/site/looknampattalung/phumipayya-ni-dan-kila-kar-la-len/khaeng-nkkhea-1
https://www.youtube.com/watch?v=zEPaBL3rHbc
วัฒนธรรมภูมิปัญญาภาคใต้ วัวชน
ชนวัว
ชนวัว
เป็นกีฬาพื้นบ้านที่มีพื้นฐานเค้าเงื่อนเริ่มกันมานานตั้งแต่ครั้งสมัยตามพรลิงค์แล้ว เนื่องจากตอนเหนือของแหลมมลายูมีพื้นที่ราบชายฝั่งกว้างขวางมาก การเพาะปลูกทำนาจึงเป็นสังคมพื้นฐานที่สำคัญทุกหัวเมือง วัวนิยมเลี้ยงไว้เพื่อการไถนาบ้าง ลากเกวียน และบรรทุกขนส่งบ้าง เป็นสัตว์เลี้ยวพื้นบ้านที่เชื่องฝึกหัดใช้งานง่ายไม่ดุร้าย อีกประการหนึ่งวัวเป็นสัตว์เลี้ยงที่พวกพราหมณ์เคารพนับถือว่าเป็นพาหนะของพระอิศวร จึงเลี้ยงวัวเพื่ออาศัยรีดนมมาใช้ดื่มกิน ใช้ทำอาหารนมเนย ใช้ทำพิธีทางศาสนา ไขวัวเอามาทำเป็นน้ำมันจุดไฟจองเปรียง และใช้ประโยชน์ทางอื่นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เช่น หนังวัวนำมาทำหนังกลอง หนังตะลุง หนังใหญ่ ภาชนะตากข้าว ทำเชือก ฯลฯ เป็นต้น
ส่วนการนำวัวมาชนต่อสู้กัน โดยปกติวัวหนุ่มคือวัวถึกหรือวัวเหลิงมักคึกคะนองจะมีการชนกันเป็นธรรมชาติ เพื่อแย่งกันเป็นจ่าฝูง แย่งตัวเมียกัน คนพื้นเมืองเห็นเป็นการกีฬาการเล่นสนุกเมื่อยามว่างจากฤดูทำนา จึงนัดจับมาชนกัน ดูเล่นสนุกเป็นครั้งคราว การนัดชนวัวแรกเป็นการชนกันระหว่างหมู่บ้านต่อหมู่บ้าน สนามต่อสู้ก็เอาบริเวณกึ่งกลางระหว่างหมู่บ้าน เป็นอย่างเครื่องนันทนาการ เพื่อให้เกิดความสนุกสนานผ่อนคลายความตึงเครียด หลังจากเหน็ดเหนื่อย จากการทำนาซึ่งเป็นงานหนักมาทั้งปี ต่อมามีคนชอบมากจึงได้คิดปรับปรุงพัฒนาให้เป็นการกีฬาการเล่นสนุกประจำปีขึ้น ซึ่งก็ไม่มีโอกาสใดจะดีเท่าเมื่อถึงเวลามีงานเทศกาลสำคัญ เช่น สงกรานต์ งานสารทเดือนสิบ งานทำบุญหมู่บ้าน งานทำบุญสวดทุ่ง งานไหว้ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ยิ่งภายหลังได้เริ่มขยายวงกลายเป็นกีฬาประจำถิ่นที่สำคัญไป มีการพนันขันต่อเข้ามาเสริม เมื่อชาวบ้านชาวเมืองต่างสนใจแพร่หลายไปทั่วทุกถิ่น จึงได้มีผู้คิดพัฒนารูปแบบกติกาการต่อสู้แข่งขันอย่างมีระบบรายละเอียดมากขึ้น จนเกิดเป็นศาสตร์ การคัดเลือก การเลี้ยงบำรุงพันธุ์ เกิดตำราการดูลักษณะโคกระบือ อันเป็นความรู้ที่ได้มาจากการสังเกต และประสบการณ์ โดยได้รับอิทธิพลดัดแปลงมาจากพวกพราหมณ์ชาวอินเดีย มิใช่เพิ่งได้รับอิทธิพลแบบย่างมาจากชาวยุโรป โปรตุเกสซึ่งไม่นิยมการชนวัวแต่อย่างใด เพราะลักษณะนิสัยชอบการต่อสู้กล้าได้กล้าเสีย สร้างสรรค์ประสบการณ์ชั้นเชิง และเพื่อความอยู่รอดของคนพื้นเมือง มีสืบทอดกันมาแต่โบราณแล้ว เนื่องจากพวกอาณาจักรตามพรลิงค์ต้องต่อสู้ขับเคี่ยวกับพวกอาณาจักรศรีวิชัยอยู่เสมอ อีกทั้งสภาพสังคมแบบเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์และอิทธิพลสิ่งแวดล้อมช่วยชักจูงส่งเสริมให้เกิดเป็นบูรณาการทางวัฒนธรรมขึ้นด้วย
ตามตำราดูลักษณะโค คือ ลักษณะวัวที่สำคัญมี ๓ อย่าง ได้แก่ ๑. สีหรือพันธุ์ ๒. เขา ๓. ขวัญ กล่าวคือ สีหรือพันธุ์มี ๓ อย่าง เช่น โคอุสุภราช (พาหนะพระอิศวร สีแดง) โคนิล (สีดำ) และโคบิณฑ์น้ำข้าว (สีขาวนวล) อันถือเป็นสีหลักโดยทั่วไป สีอื่นๆ เป็นลูกผสม เช่น สีน้ำตาล สีโหนด (สีลูกโตนดสุก) สีขาว สีขาวชี (สีขาวใส) สีลางสาด สีดุกด้าง สีลาย สีนิลเพชร ฯลฯ ก็ล้วนแยกออกไปจากสีแม่หรือสีหลัก
วัวชนจะต้องมีลักษณะดังนี้ ๑. ลำตัวหนา คร่อมอกใหญ่ ๒. ช่วงขาสั้นล่ำสั้น ๓. โคนขาใหญ่แข็งแรง ปลายเขาแหลมโค้ง (ลอม) ๔. มีโหนกสูงใหญ่รูปก้อนเส้า ๕. ลำคอสั้น หน้าใหญ่เรียกคอหมู ๖. เหนียงคอยาน ๗. โคนหางใหญ่ ปลายเล็กเรียว หางเป็นพู่สวยงาม ๘. กีบตีนชิด เล็บใหญ่ เรียกเล็บพรก (กะลา) ๙. ใบหูเล็ก มีขนหูมาก เป็นต้น หรือวัวที่มีลักษณะคร่าวๆ ตามที่นักเลงวัวชนชอบพูดว่า “หู ตาเล็ก หางร่วง หัวรก หมอยดก คิ้วหนา หน้าสั้น เขาใหญ่ ลูกไข่ช้อนไปข้างหน้า” นอกจากนี้ยังมีคติความเชื่อเกี่ยวกับวัวกล่าวไว้อีกว่า “ตีนด่าง หางดก หนอกพาดผ้า หน้าใบโพธิ์” ถือเป็นวัวที่มีลักษณะดีเลิศ เป็นมงคล ใครเลี้ยงไว้จะเป็นเศรษฐีมั่งมีทรัพย์ เป็นต้น แต่คุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญของวัวชนที่ดีคือ ๑. ใจมาก ๒. ทางชน ๓. ความสมบูรณ์
กีฬาชนวัวนิยมกันมากทางนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา จังหวัดใกล้เคียงก็มีทั่วไป วัวชนที่มีชื่อเสียงในอดีต เช่น โคโหนด โคจำปี (พ.ศ.๒๔๗๗ - ๒๔๗๘) โคฮัง (พ.ศ.๒๕๐๒) เป็นวัว อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช อ้ายขาวลุง วัวบ้านทุ่งลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ฯลฯ โด่งดงทั่วภาคใต้
งานเทศกาลสารทเดือนสิบ ที่นครศรีธรรมราช สนามบ้านยวนแหล ต.โพธิ์เสด็จ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช จะเป็นการชุมนุมวัวชนครั้งใหญ่ประจำปี มีวัวจากทั่วภาคใต้มาชนกันตลอด ๑๐ วันๆ ละ ๒ รอบ เป็นอย่างมาก มีการพนันติดปลายเขาด้วยราคาสูงต่อคู่ แต่คนพื้นเมืองจะถือคติไม่เล่นพนันชนวัวในหมู่เครือญาติเด็ดขาด
อนึ่งสมัยก่อนในเทศกาลสงกรานต์ว่างจากทำนา มีการจัดเอาควายเปลี่ยว (ไม่ได้ตอน) มาชนกัน เป็นกีฬาที่สนุกสนานเป็นที่นิยมกันมากที่ อ.เมือง จ.ชุมพร อ.ท่าชนะ อ.ไชยา อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ประเทศเพื่อนบ้านที่ยึดเกษตรกรรมเป็นหลักมักมีกิจกรรมลักษณะคล้ายกัน เช่น เวียดนามมีประเพณีชนควายจัดแข่งขันกันใหญ่โต ควายตัวที่ชนชนะกลับต้องถูกคัดเลือกเอาไปบูชายันต์ จังหวัดชลบุรีก็มีประเพณีแข่งควายคือ นำควายมาวิ่งแข่งว่าตัวไหนจะวิ่งเร็วกว่ากัน เพราะเป็นสัตว์ที่นิยมใช้ไถนากันมาก เนื่องจากมีกำลังมากกว่าวัว ปัจจุบันพัฒนารูปแบบไปไกลกลายเป็นไฮไลต์เพื่อการท่องเที่ยวประจำเมืองไปแล้ว
ที่มา
https://sites.google.com/site/looknampattalung/phumipayya-ni-dan-kila-kar-la-len/chn-waw
https://www.youtube.com/watch?v=rnpWf5LnD3U
วัฒนธรรมภูมิปัญญาภาคใต้ หนังตลุง
หนังตะลุง
เป็นการแสดงที่นิยมแพร่หลายที่สุดทั่วคาบสมุทรทะเลใต้ เช่น ชวา สุมาตรา แหลมมลายู และ ดินแดนอื่นๆ รวมทั้งภาคกลาง ภาคอีสานของไทยอีกด้วย ซึ่งต้นกำเนิดดั้งเดิมเชื่อว่ามาแต่อินเดียอันเป็นรากเหง้าทางศิลปวัฒนธรรมของดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกว่า “การเล่นเงา” (ฉายนาฏกะ) ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเป็นแบบฉบับของพื้นเมือง ตั้งแต่สมัยตามพรลิงค์หรือศรีวิชัย และเรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น ชวามลายู เรียก “วายัง” หรือ “วายังกุลิต” วายัง = เงา กุลิต = หนังสัตว์ ถ้าเป็นหนังวายังสมัยใหม่ระบายสีธรรมชาติเรียก “ปะตอง วายังกุลิต” เขมรเรียก “สะเบ็ก” และชาวมลายูเรียกหนังตะลุงของไทยว่า “วายังเสียม” แปลว่าหนังตะลุงสยาม ซึ่งมีรูปร่างต่างจากมลายู เหตุทั้งนี้เพราะรูปหนังตะลุงทุกชาตินิยมทำจากหนังสัตว์ เช่น หนังวัว ควาย เหมือนกัน เนื่องจากคงทนถาวร เพราะยุคแรกคงจะใช้กระดาษบ้าง ผ้าบ้าง ใบไม้เปลือกไม้บ้าง ซึ่งไม่คงทนถาวรจึงคิดประดิษฐ์จากหนังสัตว์แทน ดังนั้นอาจเรียกการละเล่นชนิดนี้ได้ว่า การแสดงที่ทำจากหนังสัตว์เป็นหุ่นเชิดบังแสงให้เกิดเงา และตัวหนังจะทาสีดำเหมือนกันหมดเพราะให้เงาคมชัดดี แต่รูปแบบตังหนังตะลุงของแต่ละชนิดจะแตกต่างกันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน แม้จะเป็นตัวละครในเรื่องเดียวกัน เนื่องจากความแตกต่างในรสนิยม รูปแบบทางศิลปะ และคติความเชื่อ คือ หนังตะลุงของชวามีบุคลิกสะดุดตาที่สุดโดยจะทำรูปคล้ายการ์ตูนในเรื่องป๊อปอาย รูปหนังจะทำเป็นตัวผอมสูง ผมหยิกคอและไหล่ยาวผิดธรรมชาติ แข้งขาเล็กยาวเก้งก้างผิดปกติ เป็นอย่างกระดูกเคลื่อนที่ แต่มีเครื่องอาภรณ์ตกแต่งอลังการสวยงามเป็นพิเศษ โดยเฉพาะศรีษะจะเน้นการตกแต่งและเครื่องประดับ เช่น ชฎามงกฎ ท้ายยาวงอน โค้งอย่างเขาควาย จมูกโด่งยาวสวยงามมากจึงทำให้ส่วนศรีษะโตใหญ่
หนังตะลุงของมาเลเซีย มีลักษณะคล้ายของจริงมากขึ้น คือ รูปเหมือนคน แต่งเครื่องทรงกษัตริย์อลังการไปทั้งตัว นุ่งผ้าลายปาเต๊ะรุ่มร่าม เหยียบอยู่บนตัวนาค มงกุฎใหญ่ดูไม่สมส่วน สนับปั้นเหน่งสองข้างสะโพกยาวงอนโค้งไปด้านหลังรูปหน้าผมจะขมุ่นเป็นมวยยาวงอนโค้งไปด้านหลังคล้ายกับของชวา เป็นต้น กล่าวโดยรวมหนังตะลุงมลายูลักษณะใกล้เคียงกับของไทย
แหล่งกำเนิดหนังตะลุงมักจะถกเถียงกัน เนื่องจากต่างฝ่ายก็อ้ายว่ากำเนิดจากบ้านเมืองประเทศของตนก่อนเสมอ เพื่อว่าบ้านเมืองของตนจะได้ชื่อว่ามีอารยะธรรมความเจริญเก่าแก่กว่าใคร เป็นเรื่องภูมิภาคนิยมหรือชาตินิยมไป ซึ่งโดยความเป็นจริงเมื่อชาวอินเดียนำมาเผยแพร่ ก็ต้องเข้าใจว่าอินเดียมีหลายพวก ต่างคนต่างก็นำวัฒนธรรมไปเผยแพร่เหมือนกัน ทุกเมืองจึงได้รับเหมือนกัน ต่างแต่ว่าเมืองใดจะนิยมแพร่หลายมีบทบาทชี้นำมากกว่ากันเทานั้น ผู้ใดอาจไม่เจริญรุ่งเรื่องเท่ากับผู้รับก็ได้ และด้วยเหตุนี้เองรูปร่างตัวหนังตะลุงแต่ละประเทศจึงไม่เหมือนกันเลย แม้จะนิยมเล่นเรื่องราวรามเกียรติ์เรื่องมหาภารตยุทธ์เหมือนกัน ได้มาจากครูเดียวกันต้นทางเดียวกันแท้ๆ ทั้งนี้เพราะพื้นเพของรสนิยมความงาม พื้นฐานทางวัฒนธรรมศาสนาและความเชื่อในพื้นถิ่นดั้งเดิมแตกต่างกัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าหนังตะลุง คือ เอกลักษณ์เฉพาะทางศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงและกว้างขวางที่สุด ของชนชาติในคาบสมุทรทะเลใต้ทั้งมวล
ในภาคใต้ของไทยมีตำนานว่า หนังตะลุงเกิดขึ้นที่เมืองพัทลุงโบราณ (กรุงสทิงพาราณสี) เช่นเดียวกับละครมโนราห์ ซึ่งน่าจะเป็นจริงมิใช่เลื่อนลอย เพราะดินแดนโดยรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาพัทลุง เคยเป็นที่ตั้งเมืองโบราณเก่าแก่ มีพื้นฐานเป็นบ้านเมืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 5-6 แล้ว รุ่นเดียวกับเมืองนครศรีธรรมราช เพราะเป็นที่ราบแหล่งเพาะปลูกทำนาทำเกษตรกรรมที่ใหญ่โต กว้างขวางสมบูรณ์ยิ่งแห่งหนึ่งบนแหลมมลายู จึงมีคนอพยพมาตั้งชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 4000 ปีมาแล้ว และกลุ่มชนเหล่านี้เองได้พัฒนาขึ้นเป็นชุมชนเมือง มีความเจริญยิ่งขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 9-14 เมื่อชาวอินเดียเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายและรับวัฒนธรรมอินเดียนับยุคแรก
อาจกล่าวได้ว่าดินแดนโดยรอบทะเลสาบสงขลาพัทลุง คือ อู่อารยะธรรมที่เก่าแกที่สุดแห่งหนึ่งบนคาบสมุทรมลายู การสั่งสมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ หลักฐานทางโบราณคดีทุกยุคทุกสมัย จึงปรากฏกองทับถมจมอยู่โดยรอบแอ่งน้ำธรรมชาติอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ เนื่องจากทำเลภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติเอื้ออำนวย ศิลปะการแสดงเป็นความบันเทิงรื่นเริงใจอันสุนทรีย์ของมนุษย์ เป็นเครื่องนันทนาการสำหรับชุมชนเมืองที่เจริญมั่งคงแล้วเท่านั้น
ไทยเราเรียกการเล่นหนังแตกต่างกันเป็น 2 อย่าง คือ หนังตะลุง กับ หนังใหญ่ เนื่องจากหนังใหญ่เกิดภายหลัง โดยเลียนแบบหนังตะลุงและการเล่นโขนผสมกัน และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนจึงเรียกหนังชนิดหลังว่า “หนังใหญ่” ตามรูปร่างซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า
หนังตะลุงโบราณจะเป็นสีดำ ทำยืนบนตัวพญานาค ต่อมาหลังตัวพญานาคหายไปและทำเป็นตัวหนังระบายสีธรรมชาติ เหมือนการแต่งกายของคนจริง ยกเว้น “รูปกาก” คือ พวกตัวตลก เช่น เท่ง ทอง แก้ว หนูนุ้ย เมือง สะหม้อ บองหลา เจ็กจ้ง ฯลฯ ยังคงทำสีดำเหมือนเดิม และพูดภาษาพื้นเมืองปักษ์ใต้ ส่วนหนังตัวอื่น คือ รูปเชิด เช่น พระ นาง ยักษ์ กษัตริย์ เทวดา บทพากษ์เจรจาใช้ภาษากลาง เรียกภาษาสิแนหรือแหลงข้าหลวง คือ ภาษาเจ้านาย
เครื่องดนตรีบรรเลง มี
กลองตุ๊ก
ฆ้องคู่
โหม่ง
ซอด้วง หรือ ปี่
ทับ (โทน)
ฉิ่ง การให้แสงสว่างยุคโบราณใช้คบเพลิงหรือดุ้นใต้ ยุคต่อมาใช้ตะเกียงเจ้าพายุ ปัจจุบันใช้หลอดไฟฟ้าและมีเครื่องขยายเสียงช่วยทำให้สะดวกทุ่นแรงได้มากไม่ต้องร้องพากษ์ ตะเบ็งเสียง
เรื่องที่ใช้เสียง โบราณเล่นเรื่องรามเกียรติ์เป็นหลัก ต่อมานิยมนิทานเรื่องจักรๆวงศ์ๆ ยุคหลังนิยมเรื่องนิยายสมัยใหม่อย่างละครวิทยุ และมีการเมืองแทรกบ้างอย่างทันสมัย เครื่องดนตรีก็เป็นเครื่องสากลวงสตริง หนังตะลุงจึงสามารถเข้าถึงจิตใจประชาชน เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ชมทุกวัยเสมอมาทุกยุคสมัยไม่เสื่อม แม้แต่พวกวัยรุ่น
การพิจารณาว่าหนังตะลุงคณะใดจะดีมีชื่อเสียงหรือไม่ จะต้องมีคุณลักษณะแบบเสียงหวาน นิทานดี ดนตรีดี ฟังเพราะ หัวเราะครืน ดังนั้น ทางราชการจึงนิยมใช้หนังตะลุงประชาสัมพันธ์เรื่องต่างๆ เนื่องจากทางราชการอบรมชาวบ้าน 10 ครั้ง ไม่เท่ากับหนังตะลุงเล่นให้ดูครั้งเดียว
หนังตะลุงเล่นได้เกือบทุกงาน เช่น บวชนาค แต่งงาน เทศกาล งานศพ งานฉลอง งานรัฐพิธี ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ใช้ตัวแสดงน้อย นอกจากนายหนัง แล้ว ก็มีแต่นักดนตรีเท่านั้น
ที่มา
https://sites.google.com/site/looknampattalung/phumipayya-ni-dan-silpkar-saedng/hnang-talung
https://www.youtube.com/watch?v=OtCFiflkTKs
วัฒนธรรมภูมิปัญญาภาคใต้ ลิเกป่า
ลิเกป่า
กำเนิดการเล่นแสดง “ลิเก” ของไทย ต้นเค้าเดิมคงได้ไปจากการละเล่นชนิดหนึ่งของชาวไทยเชื้อสายลมมลายูแถบจังหวัดยะลา ปัตตานี ที่เรียกว่า “ดีเกร์” หรือ “ดีเกร์ฮูรู” ในภาษามลายูพื้นเมืองซึ่งก็รับอิทธิพลแบบอย่างมาจากบทสวดสรรเสริญพระเจ้าของพวกแขกเปอร์เซียอีต่อหนึ่ง แต่ได้นำมาดัดแปลงเป็นบทขับร้องโต้ตอบกัน จนเกิดเป็นการละเล่นที่เรียก ดีเกร์ฮูลู ที่เป็นการร้องโต้คารมกันเพียงอย่างเดียวเหมือนกับลำตัด ซึ่งไทยเราก็เอาแบบอย่างนี้ไปด้วยทั้งลำตัดและลิเก แต่ที่เป็นลิเกนั้นคนไทยนำไปพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปแบบรายละเอียดไปมากจนไม่เหลือเค้าเดิมเลยนอกจากชื่อ และมีประเพณีต้อง “ออกแขก” แสดงคงไว้ให้รู้เท่านั้น ตามลักษณะนิสัยคนไทยชอบปรุงแต่งให้ประณีตอย่างนาฏศิลป์และถูกรสนิยมและสังคมสิ่งแวดล้อม ของคนไทยมาแต่เดิม จึงกลายเป็นลิเกทรงเครื่องวิวัฒนาการไปไกลชนิดตรงข้ามกับต้นแบบดั้งเดิม
ลิเกป่าเรียกต่างกันหลายชื่อ เช่น ลิเกแขกแดง เป็นการแสดงของชาวไทยมุสลิมทางฝั่งทะเลตะวันตก เช่น ตรัง สตูล กระบี่ พัทลุง เนื่องจากเดิมลิเกมีตัวแสดงเพียง 3 ตัว เท่านั้น ได้แก่ 1. แขกแดง 2. ยาหยี 3. เสนา
ลิเกป่ามีทุนรอนน้อย คนน้อย เครื่องแต่งกายจึงเป็นแบบตามมีตามเกิด ใช้นุ่งโจงกระเบนบ้าง ผ้าถุงผ้าโสร่งบ้าง เครื่องประดับใช้กระดาษ ใช้ดอกไม้พวงมาลัย เปลือกหอย ลูกผลไม้บ้างไม่มีบ้าง
เครื่องดนตรี มี
กลองรำมะนา
ฉิ่ง
โหม่ง
กลอง
ระนาด
กรับ
ซอหรือปี
ที่มา
https://sites.google.com/site/looknampattalung/phumipayya-ni-dan-silpkar-saedng/like-pa
https://www.youtube.com/watch?v=9TMDf9O68HU
วัฒนธรรมภูมิปัญญาภาคใต้ รองเง็ง
รองเง็ง
เป็นการแสดงประเภทศิลปะการเต้นรำประกอบดนตรี ของคนพื้นเมืองในแถบ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตลอดจนเมืองต่างๆ ของมาเลเซียตอนเหนือ เช่น กะลันตัน ไทรบุรี ปาหัง ตรังกานู ล้วนเป็นที่นิยมเล่นกันทั่วไปและแพร่ไปถึงอินโดนีเซีย
กล่าวกันว่า รองเง็งได้รับอิทธิพลแบบอย่างมาจากชาวยุโรป คือ ปอร์ตุเกส สเปน ซึ่งเดินเรือเข้ามาติดต่อค้าขาย สร้างคลังสินค้า และตั้งเป็นอาณานิคมขึ้นในย่านนี้ เมื่อถึงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ มีงานรื่นเริงใดๆ พวกฝรั่งซึ่งมีการเต้นรำขึ้น ซึ่งก็เต้นรำกันสนุกสนาน ชาวมลายูพื้นเมืองเห็นเป็นแบบอย่างจึงนำมาฝึกซ้อมหัดเล่นขึ้นบ้าง โดยเริ่มแรกฝึกหัดจัดแสดงกันอยู่ในวงแคบ เฉพาะแต่ในบ้านขุนนางและวังเจ้าเมืองสุลต่าน เพื่อต้อนรับแขกเหรื่อหรือเวลามีงานรื่นเริงต่างๆ เป็นการภายใน ภายหลังจึงได้แพร่หลายออกสู่ชาวพื้นเมือง
ในยุคแรกการแสดงรองเง็งยังอยู่ในวงจำกัด ใช้ผู้หญิงข้าทาสบริวารฝึกหัดกัน เนื่องจากวัฒนธรรมมุสลิมไม่นิยมให้สตรีเข้าสังคมใกล้ชิดกับบุรุษอย่างประเจิดประเจ้อ ต่อมาจึงใช้รองเง็งเป็นการแสดงสลับฉากฆ่าเวลาขณะเมื่อการแสดงละครมะโย่งหยุดพักครั้งละ ๑๐-๑๕ นาที เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเชิญให้ผู้ชมลุกขึ้นมาร่วมวงด้วย ในที่สุดรองเง็งจึงได้พัฒนารูปแบบจนเป็นที่ถูกใจชาวบ้าน มีการตั้งคณะรองเง็งขึ้นรับจ้างไปแสดงตามงานต่างๆ ทำนองคณะรำวงรับจ้างของไทย
การแต่งกาย ผู้ชายสวมหมวกหนีบไม่มีปีก (หรือที่เรียกหมวกแขก) สีดำหรือบางทีอาจจะสวม “ชะตางัน” หรือโพกผ้าแบบเจ้าบ่าวมุสลิมก็ได้ นุ่งกางเกงขากว้าง (คล้ายกางเกงขาก๊วยของคนจีน) ใส่เสื้อคอกลมแขนยาวผ่าครึ่งอกสีเดียวกับกางเกง ใช้ผ้าหน้าแคบคล้ายผ้าขาวม้าเรียก “ผ้าลิลินัง” หรือ “ผ้าซาเลนดัง” เป็นผ้าไหมยกดอกดิ้นทองดิ้นเงินผืนงาม พันรอบสะโพกคล้ายนุ่งโสร่งสั้นทับกางเกงอีกชั้นหนึ่ง
ผู้หญิง ใส่เสื้อเข้ารูปแขนกระบอกเรียกเสื้อ “บันดง” ยาวคลุมสะโพก ผ่าอกตลอด ติดกระดุมทอง เป็นแถวยาว นุ่งผ้าถุงสีหรือลายยาวกรอมเท้า มีผ้าผืนยาวบางๆ คลุมไหล่ให้สีตัดกับสีเสื้อ
เครื่องดนตรีและเพลง เครื่องดนตรีมี ๑. กลองรำมะนา ๒. ฆ้อง ๓. ไวโอลิน (เป็นเครื่องดนตรีหลักที่สำคัญ) เพลงที่นิยมใช้เต้นรำมีราว ๗ เพลง คือ
เพลงลาฆูดูวอ เป็นเพลงเร็ว ชื่อเพลงหมายถึง “เพลงที่สอง”
เพลงลานัง เป็นเพลงเร็วและช้าสลับกัน ชื่อเพลงหมายถึง น้ำใสที่ไหลหยด น้ำตาที่ไหลปีติ
เพลงปูโจ๊ะปิซัง ชื่อเพลงหมายถึง “ยอดตอง” เปรียบเสมือนยอดแห่งความรักที่กำลังสดชื่น
เพลงจินตาซายัง ชื่อเพลงหมายถึง ความสำนึกในความรักอันดูดดื่ม
เพลงอาเนาะดีดิ ชื่อเพลงหมายถึง ลูกบุญธรรมหรือลูกสุดที่รัก
เพลงมะอีนังชวา เป็นเพลงช้าชื่อเพลงหมายถึง แม่นมหรือพี่เลี้ยงชาวชวา ได้ท่ารำคำร้องเดิมมาจากชวา
เพลงมะอีนังลามา ชื่อเพลงหมายถึง แม่นมหรือพี่เลี้ยง เป็นเพลงเก่าแก่
ลักษณะการเต้นรำ เมื่อดนตรีขึ้นเพลง ผู้ชายจะไปโค้งฝ่ายหญิงแล้วพากันไปเต้นรำเป็นคู่ๆ ตามจังหวะเพลง มีทั้งช้าและเร็วหรือสลับกัน กระบวนท่ามีทั้งท่ายืน ท่านั่ง ปรบมือ เล่นเท้า หมุนตัว วาดลวดลายไล่เลียงกันด้วยความชำนาญ และเข้ากับจังหวะเพลงอย่างสวยงามน่าดู สนุกสนาน เร้าใจ การเต้นรำจะไม่ถูกเนื้อต้องตัวกัน เน้นความสุภาพ ความอ่อนช้อย ไม่หยาบโลน เน้นศิลปะความสวยงาม
ที่มา
https://sites.google.com/site/looknampattalung/phumipayya-ni-dan-silpkar-saedng/rxngngeng
https://www.youtube.com/watch?v=Bo5MYHOl9N4
วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559
เพลงชาติไทย
ธงชาติเเละเพลงชาติไทย เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย
เราจงร่วมใจยืนตรงเคารพธงชาติ ด้วยความภาคภูมิใจในเอกราช
เเละความเสียสละของบรรพบุรุษไทย
ที่มา
https://www.youtube.com/watch?v=aPVSHiy2vYE
หน้าแรก
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)