วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559

วัฒนธรรมภูมิปัญญาภาคใต้ หนังตลุง

หนังตะลุง



       เป็นการแสดงที่นิยมแพร่หลายที่สุดทั่วคาบสมุทรทะเลใต้ เช่น ชวา สุมาตรา แหลมมลายู และ ดินแดนอื่นๆ รวมทั้งภาคกลาง ภาคอีสานของไทยอีกด้วย ซึ่งต้นกำเนิดดั้งเดิมเชื่อว่ามาแต่อินเดียอันเป็นรากเหง้าทางศิลปวัฒนธรรมของดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกว่า “การเล่นเงา” (ฉายนาฏกะ) ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเป็นแบบฉบับของพื้นเมือง ตั้งแต่สมัยตามพรลิงค์หรือศรีวิชัย และเรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น ชวามลายู เรียก “วายัง” หรือ “วายังกุลิต” วายัง = เงา กุลิต = หนังสัตว์ ถ้าเป็นหนังวายังสมัยใหม่ระบายสีธรรมชาติเรียก “ปะตอง วายังกุลิต” เขมรเรียก “สะเบ็ก” และชาวมลายูเรียกหนังตะลุงของไทยว่า “วายังเสียม” แปลว่าหนังตะลุงสยาม ซึ่งมีรูปร่างต่างจากมลายู เหตุทั้งนี้เพราะรูปหนังตะลุงทุกชาตินิยมทำจากหนังสัตว์ เช่น หนังวัว ควาย เหมือนกัน เนื่องจากคงทนถาวร เพราะยุคแรกคงจะใช้กระดาษบ้าง ผ้าบ้าง ใบไม้เปลือกไม้บ้าง ซึ่งไม่คงทนถาวรจึงคิดประดิษฐ์จากหนังสัตว์แทน ดังนั้นอาจเรียกการละเล่นชนิดนี้ได้ว่า การแสดงที่ทำจากหนังสัตว์เป็นหุ่นเชิดบังแสงให้เกิดเงา และตัวหนังจะทาสีดำเหมือนกันหมดเพราะให้เงาคมชัดดี แต่รูปแบบตังหนังตะลุงของแต่ละชนิดจะแตกต่างกันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน แม้จะเป็นตัวละครในเรื่องเดียวกัน เนื่องจากความแตกต่างในรสนิยม รูปแบบทางศิลปะ และคติความเชื่อ คือ หนังตะลุงของชวามีบุคลิกสะดุดตาที่สุดโดยจะทำรูปคล้ายการ์ตูนในเรื่องป๊อปอาย รูปหนังจะทำเป็นตัวผอมสูง ผมหยิกคอและไหล่ยาวผิดธรรมชาติ แข้งขาเล็กยาวเก้งก้างผิดปกติ เป็นอย่างกระดูกเคลื่อนที่ แต่มีเครื่องอาภรณ์ตกแต่งอลังการสวยงามเป็นพิเศษ โดยเฉพาะศรีษะจะเน้นการตกแต่งและเครื่องประดับ เช่น ชฎามงกฎ ท้ายยาวงอน โค้งอย่างเขาควาย จมูกโด่งยาวสวยงามมากจึงทำให้ส่วนศรีษะโตใหญ่
       หนังตะลุงของมาเลเซีย มีลักษณะคล้ายของจริงมากขึ้น คือ รูปเหมือนคน แต่งเครื่องทรงกษัตริย์อลังการไปทั้งตัว นุ่งผ้าลายปาเต๊ะรุ่มร่าม เหยียบอยู่บนตัวนาค มงกุฎใหญ่ดูไม่สมส่วน สนับปั้นเหน่งสองข้างสะโพกยาวงอนโค้งไปด้านหลังรูปหน้าผมจะขมุ่นเป็นมวยยาวงอนโค้งไปด้านหลังคล้ายกับของชวา เป็นต้น กล่าวโดยรวมหนังตะลุงมลายูลักษณะใกล้เคียงกับของไทย
       แหล่งกำเนิดหนังตะลุงมักจะถกเถียงกัน เนื่องจากต่างฝ่ายก็อ้ายว่ากำเนิดจากบ้านเมืองประเทศของตนก่อนเสมอ เพื่อว่าบ้านเมืองของตนจะได้ชื่อว่ามีอารยะธรรมความเจริญเก่าแก่กว่าใคร เป็นเรื่องภูมิภาคนิยมหรือชาตินิยมไป ซึ่งโดยความเป็นจริงเมื่อชาวอินเดียนำมาเผยแพร่ ก็ต้องเข้าใจว่าอินเดียมีหลายพวก ต่างคนต่างก็นำวัฒนธรรมไปเผยแพร่เหมือนกัน ทุกเมืองจึงได้รับเหมือนกัน ต่างแต่ว่าเมืองใดจะนิยมแพร่หลายมีบทบาทชี้นำมากกว่ากันเทานั้น ผู้ใดอาจไม่เจริญรุ่งเรื่องเท่ากับผู้รับก็ได้ และด้วยเหตุนี้เองรูปร่างตัวหนังตะลุงแต่ละประเทศจึงไม่เหมือนกันเลย แม้จะนิยมเล่นเรื่องราวรามเกียรติ์เรื่องมหาภารตยุทธ์เหมือนกัน ได้มาจากครูเดียวกันต้นทางเดียวกันแท้ๆ ทั้งนี้เพราะพื้นเพของรสนิยมความงาม พื้นฐานทางวัฒนธรรมศาสนาและความเชื่อในพื้นถิ่นดั้งเดิมแตกต่างกัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าหนังตะลุง คือ เอกลักษณ์เฉพาะทางศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงและกว้างขวางที่สุด ของชนชาติในคาบสมุทรทะเลใต้ทั้งมวล
       ในภาคใต้ของไทยมีตำนานว่า หนังตะลุงเกิดขึ้นที่เมืองพัทลุงโบราณ (กรุงสทิงพาราณสี) เช่นเดียวกับละครมโนราห์ ซึ่งน่าจะเป็นจริงมิใช่เลื่อนลอย เพราะดินแดนโดยรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาพัทลุง เคยเป็นที่ตั้งเมืองโบราณเก่าแก่ มีพื้นฐานเป็นบ้านเมืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 5-6 แล้ว รุ่นเดียวกับเมืองนครศรีธรรมราช เพราะเป็นที่ราบแหล่งเพาะปลูกทำนาทำเกษตรกรรมที่ใหญ่โต กว้างขวางสมบูรณ์ยิ่งแห่งหนึ่งบนแหลมมลายู จึงมีคนอพยพมาตั้งชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 4000 ปีมาแล้ว และกลุ่มชนเหล่านี้เองได้พัฒนาขึ้นเป็นชุมชนเมือง มีความเจริญยิ่งขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 9-14 เมื่อชาวอินเดียเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายและรับวัฒนธรรมอินเดียนับยุคแรก
        อาจกล่าวได้ว่าดินแดนโดยรอบทะเลสาบสงขลาพัทลุง คือ อู่อารยะธรรมที่เก่าแกที่สุดแห่งหนึ่งบนคาบสมุทรมลายู การสั่งสมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ หลักฐานทางโบราณคดีทุกยุคทุกสมัย จึงปรากฏกองทับถมจมอยู่โดยรอบแอ่งน้ำธรรมชาติอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ เนื่องจากทำเลภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติเอื้ออำนวย ศิลปะการแสดงเป็นความบันเทิงรื่นเริงใจอันสุนทรีย์ของมนุษย์ เป็นเครื่องนันทนาการสำหรับชุมชนเมืองที่เจริญมั่งคงแล้วเท่านั้น
        ไทยเราเรียกการเล่นหนังแตกต่างกันเป็น 2 อย่าง คือ หนังตะลุง กับ หนังใหญ่ เนื่องจากหนังใหญ่เกิดภายหลัง โดยเลียนแบบหนังตะลุงและการเล่นโขนผสมกัน และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนจึงเรียกหนังชนิดหลังว่า “หนังใหญ่” ตามรูปร่างซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า
        หนังตะลุงโบราณจะเป็นสีดำ ทำยืนบนตัวพญานาค ต่อมาหลังตัวพญานาคหายไปและทำเป็นตัวหนังระบายสีธรรมชาติ เหมือนการแต่งกายของคนจริง ยกเว้น “รูปกาก” คือ พวกตัวตลก เช่น เท่ง ทอง แก้ว หนูนุ้ย เมือง สะหม้อ บองหลา เจ็กจ้ง ฯลฯ ยังคงทำสีดำเหมือนเดิม และพูดภาษาพื้นเมืองปักษ์ใต้ ส่วนหนังตัวอื่น คือ รูปเชิด เช่น พระ นาง ยักษ์ กษัตริย์ เทวดา บทพากษ์เจรจาใช้ภาษากลาง เรียกภาษาสิแนหรือแหลงข้าหลวง คือ ภาษาเจ้านาย
เครื่องดนตรีบรรเลง มี

  1. กลองตุ๊ก
  2. ฆ้องคู่
  3. โหม่ง
  4. ซอด้วง หรือ ปี่
  5. ทับ (โทน)
  6. ฉิ่ง การให้แสงสว่างยุคโบราณใช้คบเพลิงหรือดุ้นใต้ ยุคต่อมาใช้ตะเกียงเจ้าพายุ ปัจจุบันใช้หลอดไฟฟ้าและมีเครื่องขยายเสียงช่วยทำให้สะดวกทุ่นแรงได้มากไม่ต้องร้องพากษ์ ตะเบ็งเสียง
       เรื่องที่ใช้เสียง โบราณเล่นเรื่องรามเกียรติ์เป็นหลัก ต่อมานิยมนิทานเรื่องจักรๆวงศ์ๆ ยุคหลังนิยมเรื่องนิยายสมัยใหม่อย่างละครวิทยุ และมีการเมืองแทรกบ้างอย่างทันสมัย เครื่องดนตรีก็เป็นเครื่องสากลวงสตริง หนังตะลุงจึงสามารถเข้าถึงจิตใจประชาชน เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ชมทุกวัยเสมอมาทุกยุคสมัยไม่เสื่อม แม้แต่พวกวัยรุ่น
        การพิจารณาว่าหนังตะลุงคณะใดจะดีมีชื่อเสียงหรือไม่ จะต้องมีคุณลักษณะแบบเสียงหวาน นิทานดี ดนตรีดี ฟังเพราะ หัวเราะครืน ดังนั้น ทางราชการจึงนิยมใช้หนังตะลุงประชาสัมพันธ์เรื่องต่างๆ เนื่องจากทางราชการอบรมชาวบ้าน 10 ครั้ง ไม่เท่ากับหนังตะลุงเล่นให้ดูครั้งเดียว
        หนังตะลุงเล่นได้เกือบทุกงาน เช่น บวชนาค แต่งงาน เทศกาล งานศพ งานฉลอง งานรัฐพิธี ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ใช้ตัวแสดงน้อย นอกจากนายหนัง แล้ว ก็มีแต่นักดนตรีเท่านั้น


















ที่มา
https://sites.google.com/site/looknampattalung/phumipayya-ni-dan-silpkar-saedng/hnang-talung
https://www.youtube.com/watch?v=OtCFiflkTKs

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น